Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

โรคอัลไซเมอร์ รู้เร็ว รักษาทัน ก่อนอาการรุนแรง

16 ธ.ค. 2567

 
โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อย ส่งผลกระทบทั้งความจำและยังอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมอีกด้วย การสังเกตอาการและเข้าใจโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่เนิ่นๆ จึงมีความสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถวางแผนการดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยชะลอการดำเนินของโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้

โรคอัลไซเมอร์คืออะไร? 
โรคอัลไซเมอร์เกิดจากการเสื่อมสภาพของเซลล์สมอง อันเป็นผลมาจากความผิดปกติของโครงสร้างเนื้อเยื่อสมอง โดยมีสาเหตุจากการสะสมของโปรตีนที่เรียกว่า เบตา-อะไมลอยด์ และ ทาว ซึ่งทำให้เซลล์สมองเสื่อมลง สูญเสียการทำงาน ความจำบกพร่อง และส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองส่วนอื่น ๆ จนเกิดความผิดปกติทางความคิด พฤติกรรม และการใช้ชีวิตประจำวัน

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีอาการอย่างไร? 
อาการเริ่มแรกที่สำคัญของผู้ป่วยอัลไซเมอร์คือการสูญเสียความจำระยะสั้น ซึ่งอาจคล้ายคลึงกับภาวะความจำเสื่อมตามวัยในผู้สูงอายุ แต่เมื่อเวลาผ่านไป พบว่า 80-90% ของผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการทางพฤติกรรมหรือทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้การดูแลผู้ป่วยยากลำบากมากขึ้น

อาการของโรคอัลไซเมอร์แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะเริ่มแรก (Early Stage)
  • ผู้ป่วยเริ่มมีความจำถดถอย เช่น ลืมนัดหมาย หรือเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ
  • มักถามคำถามหรือเล่าเรื่องเดิมซ้ำๆ
  • เริ่มมีปัญหาในการวางแผนหรือจัดการงานที่ซับซ้อน
  • อาจมีสับสนทิศทาง แม้ในสถานที่คุ้นเคย
  • อารมณ์แปรปรวนง่าย เครียด หรือซึมเศร้า
  • ยังสามารถพอสื่อสารและทำกิจวัตรประจำวันได้

2. ระยะปานกลาง (
Middle Stage)
  • อาการความจำถดถอยชัดเจนขึ้น
  • พฤติกรรมและอารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว เงียบขรึมผิดปกติ เดินออกจากบ้านโดยไม่มีจุดหมาย มีความคิดที่ไม่สมเหตุสมผล
  • อาจมีอาการหลงผิด หวาดระแวง หรือเห็นภาพหลอน
  • มีปัญหาในการสื่อสาร การอ่าน และการเขียน
  • ต้องการความช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันมากขึ้น

3. ระยะรุนแรง (Late Stage)
  • สูญเสียความสามารถในการสื่อสารและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม
  • ไม่สามารถดูแลตนเองได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่นอย่างเต็มที่
  • รับประทานอาหารได้น้อย อาจมีปัญหาการกลืนและการเคลื่อนไหว
  • เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่

  1. อายุ 65 ปีขึ้นไป
  2. ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ในปริมาณมาก
  3. มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ที่ยังควบคุมไม่ดี รวมถึงภาวะน้ำหนักเกิน
  4. นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
  5. เคยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง 
  6. มลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM 2.5
  7. มีภาวะซึมเศร้า
  8. มีปัญหาการได้ยิน
  9. ขาดการเข้าสังคมและกิจกรรมทางกาย                          


การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์

หากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีความเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. การซักประวัติตรวจร่างกายทางระบบประสาทและทดสอบการทำงานของสมองอย่างละเอียด
  2. การตรวจเลือด
  3. การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง
  4. ในบางราย อาจต้องใช้การตรวจด้วย PET Scan เพื่อช่วยในอาการวินิจฉัย
  5. การตรวจเลือดหาสาร อะไมลอยด์ และ ทาว (ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย)

การรักษาโรคอัลไซเมอร์ 
ในปัจจุบันเน้นการชะลอการดำเนินของโรคและบรรเทาอาการ ประกอบด้วย

  1. การรักษาแบบไม่ใช้ยา
    • การฝึกสมอง เล่นเกมฝึกความจำ ฝึกทักษะการช่วยเหลือตนเอง
    • การออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
    • การนอนหลับที่เพียงพอ
  2. การรักษาแบบใช้ยา (ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง)
    • ยาชะลอการเสื่อมของสมอง
    • ยาปรับอาการทางพฤติกรรม เช่น ยาลดอาการสับสน วุ่นวาย หรืออาการนอนไม่หลับ

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. เพชรรัตน์ ตั้งวัชรพงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านประสาทและสมอง

ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ระบบประสาทเเละสมอง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745 ต่อ ศูนย์ระบบประสาทเเละสมอง

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.